Pauker, Ana (1893-1960)

นางอะนา เพาเคอร์ (พ.ศ.๒๔๓๖-๒๕๐๓)

อะนา เพาเคอร์เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ โรมาเนีย (Romanian Communist Party) และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโรมาเนียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๕๒ แม้เพาเคอร์จะสนับสนุนแนวนโยบายของสหภาพโซเวียตในการสร้างระบอบสังคมนิยมในโรมาเนียแต่เธอก็ต่อต้านแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ตามแบบโซเวียตโดยเฉพาะเรื่องการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) และการบังคับชาวนาให้เข้าร่วมในนารวม (collective farm) และนารัฐ (state farm)


เพาเคอร์ขัดแย้งทางความคิดกับกิออร์เก กิออร์กิอู-เดจ (Gheorghe Gheorghiu-Dej)* ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ชาตินิยม ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ กิออร์กิลู-เดจจึงร่วมมือกับนีโคไล เชาเชสกู (Nicolai Ceausescu)* สหายสนิทกำจัดเพาเคอร์และกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่นิยมโซเวียต เพาเคอร์ถูกขับออกจากพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียและถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งกิออร์กิลู-เดจดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่สืบแทนเพาเคอร์

 เพาเคอร์ซึ่งชื่อเดิมคือ อันนา ราบินโซน (Hannah Rabinsohn) เกิดในครอบครัวชาวยิวยากจนที่เคร่งศาสนาที่หมู่บ้านโคเดสดี (Codaesti) ในแคว้นมอลเดเวีย (Moldavia) เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๓ บิดามีอาชีพเป็นคนฆ่าสัตว์สังเวยในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มารดาเป็นคนขายผลไม้ เพาเคอร์มีพี่น้องชายหญิงรวม ๖ คนพี่และน้อง ๒ คนเสียชีวิดในวัยเยาว์และเธอเป็นบุตรคนที่ ๔ ต่อมาครอบครัวเธออพยพมาอยู่ที่กรุงบูคาเรสต์ (Bucharest) เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า เพาเคอร์ซึ่งเป็นเด็กหัวดีและมุมานะได้ทุนการศึกษาจากโรงเรียนชุมชนยิว (Jewish Community School) ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เพาเคอร์ในวัย ๑๗ ปี ทำงานสอนหนังสือเด็กชั้นประถมที่โรงเรียนมัธยมและสอนภาษาฮีบรูและยิวศึกษา (Jewish Studies) ที่โรงเรียนอาชีวะชุมชนยิวเธอมีโอกาสพบและรู้จักกับเพื่อนครูหัวก้าวหน้าและถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมกลุ่มศึกษาลัทธิมากซ์ (Marxism)* เพาเคอร์สนใจแนวความคิดลัทธิสังคมนิยมและใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยโรมาเนีย (Romanian Social Democratic Worker’s Party) เธอสนับสนุนกลุ่มปีกซ้ำยของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยโรมาเนีย ในการเคลื่อนไหวสนับสนุนข้อเรียกร้องของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในรัสเซียที่ผลักตันเรื่องการจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* และการเปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมของประเทศทุนนิยมให้เป็นสงครามกลางเมืองหลังชัยชนะของพรรคบอลเชวิคในการยึดอำนาจทางการเมืองในรัสเซียในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ (October Revolution of 1917)* กลุ่มปีกซ้ำยของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยโรมาเนียมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นในพรรค และเพาเคอร์ก็เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่เริ่มมีบทบาทสำคัญทางการเมือง

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๐ กลุ่มปีกซ้ำยของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยโรมาเนียซึ่งมีเพาเคอร์เป็นผู้นำได้แยกตัวออกมาจัดตั้งเป็นพรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (Socialist Communist Party) และนำพรรคเข้าเป็นสมาชิกขององค์การ โคมินเทิร์น (Comintern)* หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ ต่อมาในการประชุมใหญ่พรรคเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ มีการเปลี่ยนชื่อพรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เป็นพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๑-๑๙๒๓ พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียซึ่งเป็นพรรคที่ถูกต้องตามกฎหมายพยายามดำเนินนโยบายเปลี่ยนระบอบการปกครองและสังคมให้เป็นสังคมนิยม แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวไร่ชาวนาไม่รู้หนังสือและไม่สนใจการเมืองทั้งต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียที่ตกอยู่ใต้การชี้นำของสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ โรมาเนียซึ่งเป็นภาคีสมาชิกกลุ่มความตกลงอนุภาคี (Little Entente)* ยังได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้กวาดล้างการเคลื่อนไหวของพวกคอมมิวนิสต์รัฐบาลโรมาเนียจึงดำเนินการปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์เป็นระยะ ๆ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๒๓ เพาเคอร์และแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมการประชุมสหพันธ์คอมมิวนิสต์บอลข่าน (Balkan Communist Federation Conference) ที่กรุงโซเฟืย (Sofia) บัลแกเรียและที่กรุงเบอร์ลิน (Berlin) เยอรมนีตามลำดับ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการจะผลักดันการก่อการปฏิวัติขึ้นในประเทศ รัฐบาลโรมาเนียซึ่งทราบเบาะแสการเคลื่อนไหวจึงใช้เป็นข้ออ้างกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ แกนนำคอมมิวนิสต์คนสำคัญหลายคนซึ่งรวมทั้งเพาเคอร์หลบหนีไป อยู่ที่กรุงมอสโกและจัดตั้งสำนักงานโรมาเนีย (Romanian Bureau) ขึ้นในองค์การโคมินเทิร์นส่วนสมาชิกคอมมิวนิสต์อีกจำนวนหนึ่งกบดานอยู่ในประเทศและพยายามรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มคอมมิวนิสต์ใต้ดินขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ อะนาแต่งงานกับมาร์เซล เพาเคอร์ (Marcel Pauker) ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคคนสำคัญในโปลิตบูโร (Politburo) มาร์เซลเป็นวิศวกรที่สำเร็จการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์และเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียง เขามีทักษะด้านภาษาเพราะสามารถพูดได้หลายภาษา ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๑ มาร์เซลเป็นผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียในต่างแดนและกลับเข้าประเทศในต้น ค.ศ. ๑๙๒๑ เพื่อร่วมก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียซึ่งทำให้มีโอกาสพบรักกับอะนา ทั้งสองตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันและมีบุตรสาวคนแรกในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๑ แต่เสียชีวิตอีก ๗ เดือนต่อมาด้วยโรคภัยเมื่อรัฐบาลโรมาเนียดำเนินการปราบปรามและกวาดล้าง คอมมิวนิสต์ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ มาร์เซลถูกจับและศาลตัดสินให้จำคุก ๑๐ ปีทั้งให้ทำงานเป็นแรงงานตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เขาสามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้และเดินทางไปสมทบกับอะนาที่กรุงมอสโก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๑ ทั้งอะนาและมาร์เซลเข้าศึกษาอบรมเข้มทางการเมืองที่สถาบันเลนินระหว่างประเทศ (International Leninist School) ที่กรุงมอสโกซึ่งเป็นสถาบันอบรมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่จะได้เป็นผู้นำต่อไปในช่วงเวลาดังกล่าวคนทั้งสองถูกส่งไปศึกษาดูงานการเมืองเพิ่มเติมในประเทศต่าง ๆ ในยุโรปที่มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสมาชิกโคมินเทิร์นใน ค.ศ. ๑๙๒๖ อะนาให้กำเนิดบุตรชายคนแรกที่กรุงเวียนนาและบุตรสาวอีก ๒ คนที่กรุงมอสโกใน ค.ศ. ๑๙๒๘ และ ค.ศ. ๑๙๓๒ ตามลำดับ

 การเข้าศึกษาที่สถาบันเลนินระหว่างประเทศเปิดโอกาสให้อะนาได้ทำงานในองค์การโคมินเทิร์นเธอก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและได้สังกัดในหน่วยงานระดับสูงของโคมินเทิร์นใน ค.ศ. ๑๙๒๙ อะนาถูกส่งไปประจำที่กรุงปารีสเป็นเวลา ๒ ปี เพื่อให้คำปรึกษาและชี้แนะทางการเมืองแก่พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสส่วนมาร์เซลถูกส่งกลับไปโรมาเนียเพื่อเคลื่อนไหวในหมู่กรรมกร เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในยุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙-๑๙๓๓ รัฐบาล โรมาเนียไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองได้กลุ่มคอมมิวนิสต์ซึ่งชูนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานเริ่มได้รับความนิยมจากประชาชนโดยเฉพาะกรรมกรใน ค.ศ. ๑๙๓๔ อะนาจึงลักลอบกลับเข้าประเทศเพื่อเคลื่อนไหวการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เธอได้ร่วมงานกับมาร์เซลเป็นเวลาสั้นๆ เพราะต่อมาเขาได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานที่ยูเครน (Ukraine) ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ อะนาได้รับเลือกเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ โรมาเนียซึ่งกำลังเตรียมการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นอย่างเป็นทางการ

 หลังอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* รวบอำนาจทางการเมืองได้สำเร็จ ฮิตเลอร์ ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีและนำไปสู่การลงนามร่วมกันในสนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน (Rome-Berlin Axis)* ในเวลาต่อมา รัฐบาลโรมาเนียซึ่งหวาดระแวงการขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ในประเทศจึงหันไปสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต เพราะในเวลานั้นกลุ่มการเมืองชาตินิยมขวาจัดที่เรียกว่ากองกำลังเหล็ก (Iron Guard)* กำลังเคลื่อนไหวสนับสนุนนโยบายของพรรคนาซีเยอรมันความสัมพันธ์ระหว่างโรมาเนียกับสหภาพโซเวียตได้ทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์กลายเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาล ก็พยายามควบคุมการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ตำรวจจับกุมอะนา เพาเคอร์และแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนด้วยข้อหาปลุกปั่นประชาชนให้ก่อความไม่สงบในสังคม อะนาและสหายถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีโดยเปิดเผย และศาลตัดสินจำคุกคนละ ๑๐ ปี การจับกุมอะนาครั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลต้องการช่มชู่และป้องปรามพวกคอมมิวนิสต์แต่ในทางตรงกันข้ามอะนากลับมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในแวดวงปัญญาชนยุโรปฝ่ายซ้ายและความนิยมของประชาชนต่อพรรคคอมมิวนิสต์ก็ไม่ได้ลดน้อยลง

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อฝรั่งเศสซึ่งเป็นพันธมิตรของโรมาเนียพ่ายแพ้ต่อเยอรมนีในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีจึงบีบบังคับให้โรมาเนียยกเบสซาราเบีย (Bessarabia)* และนอร์ทเทิร์นบูโควีนา (Northern Bukovina) ให้แก่โซเวียตรวมทั้งให้แลกเปลี่ยนนักโทษการเมืองระหว่างกันอะนา เพาเคอร์จึงได้รับการปล่อยตัวในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และเธอเดินทางไปสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม เธอไม่มีโอกาสได้พบกับ มาร์เซลสหายคู่ชีวิตเพราะในช่วงเวลาที่อะนาต้องโทษในคุกมาร์เซลตกเป็นเหยื่อของนโยบายการกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges)* ของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต กล่าวกันว่าอะนาได้ให้การปรักปรำมาร์เซลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มตรอตสกี (Trotskyists) ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและสตาลินอะนาไม่ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและไม่กล้าที่จะสืบค้นตามเรื่องเกี่ยวกับชะตากรรมของมาร์เซล ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ เธอได้ทราบว่ามาร์เซลถูกประหารด้วยการยิงทิ้ง ในเวลาต่อมาองค์การโคมินเทิร์นก็เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าอะนาไม่เคยให้การปรักปรำมาร์เซลและเธอยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ที่เชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งในพรรคคอมมิวนิสต์อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. ๑๙๕๗ เมื่อนีกีตา เชียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev)* ดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียต มาร์เซล เพาเคอร์ก็ได้รับการกู้เกียรติคืน

 เมื่อเยอรมนีเปิดแนวรบด้านตะวันออกใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เพื่อโจมตีสหภาพโซเวียต อะนาซึ่งทำงานในฝ่ายต่างประเทศของโคมินเทิร์นเป็นหัวหน้าควบคุมสถานีวิทยุกระจายเสียง “Free Romania” เรียกร้องให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และกลุ่มผู้รักชาติผนึกกำลังต่อต้านรัฐบาลโรมาเนียด้วยวิธีการต่าง ๆ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๓ เมื่อสหภาพโซเวียตประกาศยุบองค์การโคมินเทิร์นเพื่อแสดงเจตจำนงให้สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกเห็นว่าสหภาพโซเวียตต้องการร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรอย่างจริงใจในการต่อต้านเยอรมนี อะนาเป็นผู้แทนคนหนึ่งของโคมินเทิร์นในการร่วมลงนามยุบองค์การโคมินเทิร์นเมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ เมื่อกองทัพแดง (Red Army)* เคลื่อนกำลังเข้าสู่โรมาเนียเพื่อปลดอาวุธเยอรมนี อะนาและแกนนำคอมมิวนิสต์โรมาเนียได้ติดตามกองทัพแดงกลับเข้าประเทศด้วย เธอมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นแกนกลางในการจัดตั้งรัฐบาลและประสานความร่วมมือกับพวกคอมมิวนิสต์ชาตินิยมในประเทศที่มีจำนวนมากกว่าคอมมิวนิสต์ที่นิยมโซเวียต

 หลังเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ สหภาพโซเวียตใช้อิทธิพลบีบบังคับรัฐมนตรีที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ออกจากคณะรัฐบาลผสมที่บริหารประเทศด้วยข้อกล่าวหาสนับสนุนร่วมมือกับพวกฟาสซิสต์และแต่งตั้งสมาชิกคอมมิวนิสต์เข้าไปดำรงตำแหน่งแทนในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงครามเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๖ พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียได้คะแนนเสียงมากที่สุดและในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๔๘ ก็ได้เสียง ๔๐๕ ที่นั่งจาก ๔๑๔ ที่นั่งในรัฐสภา อะนา เพาเคอร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียและสมาชิกโปลิตบูโรจึงได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ( ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๕๒) ควบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตร ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เพาเคอร์มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้โรมาเนียประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยึดรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบ และในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ก็เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนโรมาเนีย (Romanian People’s Democratic Republic) ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๘ พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียได้ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานโรมาเนีย (Romanian Worker’s Party) และดำเนินการกวาดล้างกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามจนมีอำนาจเด็ดขาดเพียงพรรคเดียวในประเทศ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๒ เพาเคอร์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงยิวคนแรกในยุโรปที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านนโยบายกวาดล้างชาวยิวของสหภาพโซเวียตและสนับสนุนชาวโรมาเนียเชื้อสายยิวกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนไปตั้งรกรากที่อิสราเอล บทบาทดังกล่าวมีส่วนทำให้นิตยสาร Time ของสหรัฐอเมริกาตีพิมพ์ภาพเธอเป็นปกนิตยสารฉบับ วันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๘ และนำเสนอเรื่องราวของเธอในหัวเรื่อง “คอมมิวนิสต์เพาเคอร์” ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมากที่สุดในปัจจุบัน ( ค.ศ. ๑๙๔๘)

 แม้เพาเคอร์จะได้ชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์สายโซเวียตแต่ในช่วงการดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เธอปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของสหภาพโซเวียตและมีความคิดเห็นขัดแย้งกับโจเซฟ สตาลินหลายเรื่อง ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ เธอปฏิเสธที่จะสนับสนุนโครงการขุดคลองเชื่อมต่อระหว่างแม่นํ้าดานูบกับทะเลดำซึ่งสตาลินเสนอเพราะเห็นว่าไม่เอื้อประโยชน์ต่อโรมาเนียมากนัก และยังต่อต้านนโยบายการกวาดล้างสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียที่เคยร่วมต่อสู้ในสงครามกลางเมืองสเปนและขบวนการใต้ดินฝรั่งเศสซึ่งสหภาพโซเวียตกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มสนับสนุนยอซีป บรอชหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำยูโกสลาเวีย ใน ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๑ เธอต่อต้านนโยบายการบังคับชาวนาให้เข้าร่วมในระบบการผลิตแบบนารวมและไม่เห็นด้วยกับที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจจากมอสโกที่ให้ลดราคาผลิตผลเกษตรกรรมลง เธอสนับสนุนราคาผลผลิตเกษตรกรรมให้เป็นไปตามกลไกของตลาด สตาลินขุ่นเคืองเพาเคอร์มากและกล่าวหาว่าเธอเบี่ยงเบนแนวทางลัทธิมากซ์และเป็นพวกคูลัค (kulak) หรือชาวนาที่รํ่ารวย

 การปฏิเสธที่จะดำเนินนโยบายตามคำสั่งจากเครมลิน (Kremlin) มีผลให้เพาเคอร์ถูกปลดออกจากเลขาธิการพรรคใน ค.ศ. ๑๙๔๘ และกิออร์กิอู-เดจ คอมมิวนิสต์ชาตินิยมซึ่งเป็นคู่อริของเพาเคอร์ได้ดำรงตำแหน่งสืบแทนกิออร์ กิอู-เดจเริ่มดำเนินนโยบายกวาดล้างกลุ่มของเพาเคอร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๒ เป็นช่วงเวลาของการต่อสู้แย่งชิงอำนาจในพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เมื่อเกิดเหตุการณ์การกวาดล้างชาวยิวในสหภาพโซเวียตซึ่งสืบเนื่องจากแผนฆาตกรรมของคณะแพทย์ (Doctor’s Plot)* ซึ่งรัฐบาลโซเวียตกล่าวหาว่าแพทย์ชาวยิวกลุ่มหนึ่งคบคิดวางแผนฆาตกรรมผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และบุคคลสำคัญในหน่วยงานต่าง ๆ โดยวิธีทางการแพทย์ นโยบายการต่อต้านชาวยิวและการประทุษร้ายชาวยิวจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียต กิออร์กิอู-เดจจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะใช้ ขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)* กำจัดเพาเคอร์และกลุ่มของเธอ เขาเดินทางไปพบสตาลินที่กรุงมอสโกเพื่อขอความเห็นชอบในการจะกวาดล้างเพาเคอร์ สตาลินเห็นชอบเพราะเพาเคอร์ซึ่งแม้จะมีความสามารถแต่ก็เป็นยิวและเขาเห็นว่ากิออร์กิอู-เดจซึ่งเกิดในครอบครัวกรรมกรยากจนเหมาะสมที่จะเป็นผู้นำประเทศมากกว่าเพราะเป็นเลือดเนื้อที่แท้จริงของโรมาเนีย แม้เวียเชลลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโซเวียตซึ่งเป็นสหายสนิท ของสตาลินจะพยายามปกป้องเพาเคอร์ และลัฟเรนตี เบเรีย (Lavrenty Beria)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าหน่วยตำรวจลับเคจีบี (KGB)* ก็พยายามปกป้องวาซีเล ลูคา (Vasile Luca) และเตโอฮารี จอร์เจสคู (Teohari Georgescu) สหายสนิทของเพาเคอร์ทั้งขอให้ลดหย่อนโทษเป็นการจำคุก แต่ก็ประสบความล้มเหลวในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เพาเคอร์และกลุ่มของเธอก็ถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งในพรรคและคณะรัฐบาลด้วยข้อหาเป็นพวกนอกรีตฝ่ายขวา (right wing deviation) กิออร์กิลู-เดจจึงได้อำนาจเด็ดขาดในพรรค

 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๓ เพาเคอร์ถูกจับและถูกคุมขังในคุก ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ซัลมันราบินโชน (Zalman Rabinsohn) น้องชายคนเล็กของเพาเคอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการไซออนนิสต์และเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายกวาดล้างยิวในโรมาเนียลูกจับด้วยข้อหาเป็นจารชนและมีส่วนเกี่ยวข้องกับเพาเคอร์ในการช่วยเหลือชาวยิวให้หนีรอดจากการถูกกวาดล้างใน ค.ศ. ๑๙๕๐ รัฐบาลโรมาเนียเตรียมพิจารณาคดีเพาเคอร์โดยเปิดเผยตามแบบการพิจารณาคดีรูดอล์ฟ สลันสกี (Rudolf Slansky)* อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เซโกสโลวาเกียเชื้อสายยิวที่ถูกกล่าวหาว่านิยม ขบวนการลัทธิไซออนนิสต์ (Zionism) มากกว่าขบวนการคอมมิวนิสต์สากล และถูกพิจารณาคดีโดยเปิดเผยที่กรุงปราก (Prague) ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ มีการสร้างหลักฐานเท็จที่จะเชื่อมโยงคดีของเพาเคอร์กับคดีของสลันสกีในเชโกสโลวาเกียรวมทั้งกับคดีของลาซโล รอย์ค (László Rajk)* ในยังการีเพื่อชี้ให้เห็นว่าผู้นำคอมมิวนิสต์เชื้อสายยิวเหล่านี้รวมตัวกันเคลื่อนไหวระหว่างประเทศและติดต่อใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม อสัญกรรมของโจเซฟ สตาลินผู้นำสหภาพโซเวียตในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ ทำให้นโยบายการกวาดล้างยิวทั้งในสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกผ่อนคลายลง การพิจารณาคดีเพาเคอร์ในที่สาธารณะจึงถูกยกเลิกเพาเคอร์ได้รับการปล่อยตัวในกลาง ค.ศ. ๑๙๕๒ และถูกกักบริเวณที่บ้านจนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๖๔ จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ไปอยู่กับบุตรสาวที่กรุงบูคาเรสต์ เธอเลี้ยงชีพด้วยการแปลหนังสือการเมืองภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันและมีชีวิตสมถะ

 เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวาร เพาเคอร์เรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียคืนสถานภาพเดิมทางสังคมและการเป็นสมาชิกพรรคแก่เธอ ด้วยเหตุผลว่าเธอเคยต่อสู้คัดค้านนโยบายของสตาลินและปราศจากความผิดตามข้อกล่าวหาของพรรค แต่ประสบความล้มเหลวเพราะกิออร์กิอู-เดจเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โต้แย้งว่าในช่วงที่เธอมีอำนาจมีการเข่นฆ่ากวาดล้างทางการเมืองอย่างรุนแรงซึ่งเพาเคอร์เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง และการตัดสินลงโทษเพาเคอร์ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นพวกนิยมลัทธิสตาลินก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายล้มล้างอิทธิพลของกลุ่มนิยมสตาลินที่พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียได้ดำเนินการมาก่อนเพาเคอร์จึงยังคง ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและสังคมจากพรรคตราบจนสิ้นชีวิตในช่วง ๒-๓ ปีสุดท้ายของชีวิต เธอล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งทรวงอกซึ่งเคยผ่าตัดใน ค.ศ. ๑๙๕๑ แต่กลับมากำเริบอีกครั้งหนึ่ง อะนา เพาเคอร์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๐ ขณะอายุได้ ๖๗ ปี.



คำตั้ง
Pauker, Ana
คำเทียบ
นางอะนา เพาเคอร์
คำสำคัญ
- กลุ่มความตกลงอนุภาคี
- กองกำลังเหล็ก
- กองทัพแดง
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การประชุมสหพันธ์คอมมิวนิสต์บอลข่าน
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- แกนร่วมโรม-เบอร์ลิน
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- เคจีบี
- โคมินเทิร์น
- จอร์เจสคู, เตโอฮารี
- ตีโต
- นโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- บอลเชวิค
- บัลแกเรีย
- เบเรีย, ลัฟเรนตี
- เบสซาราเบีย
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- แผนฆาตกรรมของคณะแพทย์
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส
- พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานโรมาเนีย
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยโรมาเนีย
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
- เพาเคอร์, มาร์เซล
- เพาเคอร์, อะนา
- ภาวะเศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยูโกสลาเวีย
- ยูเครน
- รอย์ค, ลาซโล
- รัฐบริวารโซเวียต
- โรมาเนีย
- ลัทธิไซออนนิสต์
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิสตาลิน
- ลัทธิสังคมนิยม
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สลันสกี, รูดอล์ฟ
- สโลวาเกีย
- สวิตเซอร์แลนด์
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การโคมินเทิร์น
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1893-1960
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ.๒๔๓๖-๒๕๐๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-